ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

หมอเกษม แนะวิจัยก่อนลดเวลาเรียน

8 ก.ย. 2557 10:45 น.

ผู้อ่าน

วันนี้ (3ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น .นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ " ครบรอบ 9 ปี สทศ.วัดผลเพื่อพัฒนา นำคุณค่าการศึกษาไทย " และ​ "เฉลิมฉลองการครบรอบ 130 ปี แห่งการวัดและประเมินผลของไทย” ว่า การจัดการศึกษาในอดีตไม่มีการแยกเรื่องความรู้กับคุณธรรมออกจากกัน ถือเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ตอนนี้ได้แยกความรู้กับคุณธรรมออกจากกัน แยกวัดออกจากโรงเรียน ประกอบกับเทคโนโลยีที่เข้ามา ทั้ง มือถือ ไอแพด ไอโฟน แท็บเล็ต ก็เหมือนดาบสองคม หากใช้ไม่ดีก็จะเกิดอันตราย หรือ หากไม่ใช้ก็จะไม่ทันโลก ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ต้องปรับโครงสร้าง ต้องพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร โดยต้องมีสถาบันดูแลเรื่องหลักสูตรโดยเฉพาะ และมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจมาบริหาร เพราะหลักสูตรไม่ใช่ขนมเปี๊ยะไหว้พระจันทร์ ที่ใครเข้ามาศธ.ก็จะปรับปรุงตลอด ซึ่งไม่แน่ใจว่าคนปรับปรุงมีความรู้หรือไม่

ศ.นพ.เกษม ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง " การปฏิรูปการศึกษากับการประเมินระดับชาติ" ด้วยว่า ประเทศไทยในช่วง10 ปีที่ผ่านมา เป็นทศวรรษแห่งความมืดมน เพราะนโยบายทางการเมืองเป็นเรื่องประชานิยม ประชาชนถูกมอมเมาด้วยวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทำให้ศีลธรรมแฟบ สังคมเฟะ ส่งผลให้คนไทยมีค่านิยมผิดๆ เกรงใจคนโกงที่มีอำนาจ ยอมรับคนผิดที่ร่ำรวย ขณะที่วงการศึกษาก็มีปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงมาก ดังนั้นระบบการศึกษาต้องสร้างคนดี คนเก่งและเสียสละเพื่อส่วนรวมให้ได้ โดยต้องยกเลิกนโยบายที่ลดคุณภาพการศึกษา เช่น เงื่อนไขการสอบผ่าน หรือ การเลื่อนชั้น และต้องเพิ่มมาตรการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษการโกงสอบให้จริงจังและรุนแรง ประเมินผลผู้บริหารและครูให้ถึงเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ เป็นต้น ซึ่งการวัดและประเมินผลถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาการศึกษา โดยการวัดและประเมินผล ต้องมีความเที่ยงตรง เที่ยงธรรม โปร่งใส ยึดหลักความถูกต้อง มีคุณธรรม และหลีกเลี่ยงการวัดโดยผู้สอน หรือ โดยครูในโรงเรียนเดียวกัน ดังนั้น ขอให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ยึดมั่นในเรื่องมาตรฐานข้อสอบที่ใช้ทดสอบตามเกณฑ์ที่วางไว้ อย่าไขว่เขวตามเสียงสะท้อนว่าข้อสอบของ สทศ.ยาก

ศ.นพ.เกษม กล่าวต่อไปว่า คุณภาพการศึกษามีปัจจัยสำคัญ คือ คุณภาพครู โดยครูต้องมีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม แต่พบว่าไทยมี ครู 4 แสนคน แต่ละปีใช้งบฯ ด้านบุคลากร 4 แสนล้านบาท หรือ ครู 1 คนใช้งบฯ 1 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ครูมีหนี้สิน 4 แสนล้านบาท หรือครู​ 1 คน มีหนี้ 1 ล้านบาท และที่ผ่านมา 10 ปี หนี้ครูเพิ่มขึ้นทุกปีแสดงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาหนี้สินครูผิดวิธี จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ 3 รัฐมนตรีใหม่ของศธ. ต้องแก้ปัญหาหนี้ครูให้ได้ เพราะหากทำได้จะทำให้ครูทุ่มเทกับการสอน และครูเหล่านี้จะเป็นเทวดาที่เข้ามาช่วยปฏิรูปประเทศ ซึ่งอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับครู 4 แสนคน นอกจากนี้ควรมีระบบความรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษา เพราะการศึกษาไทย เป็นระบบเดียวที่ผู้บริหารสถานศึกษาไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าเด็กสอบตก หรือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทั้งที่ความจริงต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ

 

" จากการเปรียบเทียบผลการประเมินนักเรียนทั่วโลก พบว่า หลายประเทศจัดการสอนอย่างเข้มงวด เช่น เด็กจีนเรียนหนักมาก ส่วนครูก็สอนอย่างมีความรับผิดชอบ ดังนั้น ประเทศไทยควรทำวิจัยเพื่อทบทวนเรื่องการจัดการศึกษาที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งคนทั่วไปมักพูดว่าเด็กไทยเรียนหนักและทำการบ้านมากเกินไป และสพฐ.ก็เตรียมที่จะปรับลดเวลาเรียน แต่ก่อนที่จะไปตัดสินใจอย่างไร ผมอยากให้มีการทำวิจัยการจัดการเรียนการสอนก่อน ว่าเด็กไทยเรียนหนักจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าเราอยู่จุดใด และขอวิงวอนให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยกันทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้น แต่ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าเด็กไทยต้องเรียนให้หนักกว่านี้ ครูต้องสอนให้มากกว่านี้" องคมนตรี กล่าว. (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)