ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

องคมนตรี แนะหาคนกลางวิจัยเด็กเรียนเยอะ ก่อนลดชั่วโมง

8 ก.ย. 2557 10:50 น.

ผู้อ่าน

 

 

 

องคมนตรี แนะหาคนกลางวิจัยเด็กเรียนเยอะ ก่อนลดชั่วโมง และควรให้มีผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาปรังปรุงหลักสูตร มีสถาบันทดสอบและสถาบันขึ้นมาประเมินคุณภาพการศึกษา ย้ำการศึกษาต้องมีความรู้คู่คุณธรรม ไม่ควรแยกออกจากกัน ทั้งต้องหันมาโทษตัวเองที่ปล่อยให้เกิดคอร์รัปชันจนขาดความน่าเชื่อถือ
       
       วันนี้ (3 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) องค์การมหาชน จัดงาน “ครบรอบ 9 ปี สทศ. วัดผลเพื่อพัฒนา นำคุณการศึกษาไทย และเฉลิมฉลอง 130 ปี แห่งการวัดและประเมินผลการศึกษาไทย” โดยมี ศ. เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษากับการประเมินระดับชาติ” ตอนหนึ่ง ว่า ทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาในอดีตนั้นความรู้คู่คุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกันและในการจัดการศึกษาต้องปลูกฝังทั้ง 2 สิ่งนี้ควบคู่กันแยกกันไม่ได้ แต่เวลานี้การศึกษาแยกทั้งสองเรื่องนี้ออกจากแยกวัดออกจากโรงเรียน ขณะที่เทคโนโลยี มือถือ ไอแพดไอโฟนก็แยกลูกหลานออกจากพ่อแม่ซึ่งเหมือนดาบสองคม หากใช้ไม่ดีก็จะเกิดอันตราย หรือหากไม่ใช้ก็จะไม่ทันโลก เพราะฉะนั้น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษาอย่าไปโทษนักการเมือง โทษตำรวจแต่ต้องโทษตนเองด้วยเพราะหากทำทุกสิ่งไม่อยู่บนฐานของความซื่อสัตย์ ศธ. ก็จะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นควรมีคนกลางมาทำวิจัยเรื่องคุณธรรม รวมทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตรก็ควรมีหน่วยงานกลาง ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจมาทำ

 
ภาพ องคมนตรี แนะหาคนกลางวิจัยเด็กเรียนเยอะ ก่อนลดชั่วโมง
ภาพ องคมนตรี แนะหาคนกลางวิจัยเด็กเรียนเยอะ ก่อนลดชั่วโมง
       “หลักสูตรไม่ใช่ขนมเปี๊ยะเอาไว้ไหว้พระจันทร์ ใครต่อใครที่เข้ามาถึงมาบอกว่าจะต้องปรับหลักสูตร มาประกาศว่าจะต้องปรับไม่ว่าจะเป็นเลขารัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคนที่ประกาศจะปรับหลักสูตร เข้าใจการศึกษาหรือไม่ จึงต้องมีคนที่เชี่ยวชาญมีความเข้าใจ ความรู้ความสามารถ นอกจากนั้นต้องมีสถาบันทดสอบทางการศึกษา และสถาบันประกันคุณภาพการศึกษา เป็นหน่วยงานนอกกระทรวงอย่างในปัจจุบันเพื่อวัดประเมินผล และประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้กว่าทศวรรษมาแล้วที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะมืดมนจากเหตุวิกฤตต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนถูกมอมเมาด้วยวัตถุนิยม บริโภคนิยม สื่อมวลชนก็มอมเมาในทางโลก โกรธ หลง ทำให้ศีลธรรมแฟบ สังคมเฟะ ประชาชนฟอน และส่งผลให้คนไทยมีค่านิยมผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นเกรงใจคนโกงที่มีอำนาจ ยอมรับคนผิดที่ร่ำรวย ยึดแต่รูปแบบอ้อนสาระและคุณค่า ฉาบฉวยมักง่ายและค่านิยมที่เกินงาม ดังนั้น ระบบการศึกษาที่จะสร้างคนดี คนเก่งและเสียสละเพื่อส่วนร่วมได้ ต้องยกเลิกนโยบายที่ลดคุณภาพการศึกษา” องคมนตรี กล่าว
       
       ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ต้องมีระบบความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของการบริหารโรงเรียน เพราะตอนนี้นักเรียนคะแนนตกต่ำ คุณภาพไม่ดี ก็ไม่มีใครสามารถเอาผิดครู ผู้บริหารโรงเรียนได้ และครู ผู้บริหารโรงเรียนจะคอรัปชั่นส์หรือไม่ก็ไม่มีใครสนใจ อย่างไรก็ตาม การวัดและประเมินผล เป็นอีกหนึ่งส่วนในการพัฒนาการศึกษา โดยการวัดและประเมินผล ต้องมีความเที่ยงตรง เที่ยงธรรม โปร่งใส ยึดหลักความถูกต้อง มีคุณธรรม และหลีกเลี่ยงการวัดโดยผู้สอน โดยครูในโรงเรียนเดียวกัน และขอให้ สทศ. ยึดมั่นในเรื่องมาตรฐานข้อสอบต่อให้มีใครมาบอกว่าข้อสอบยาก ทำให้เด็กทำข้อสอบไม่ได้ก็ต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่วางไว้ และอย่าตำหนิแต่ สทศ. ขอให้ตำหนิตัวเองด้วยว่าสอนอย่างไรให้เด็กไม่มีความรู้ไปสอบ
       
       “คุณภาพการศึกษาอยู่ที่ 2 ปัจจัย คือ เรื่องคุณภาพครู โดยครูต้องมีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม เราต้องใช้มาตรการทางบวกที่จะทำให้ครูที่มีอยู่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัว และยกครูขึ้นมาให้ช่วยอบรมหล่อหลอมลูกศิษย์เป็นคนดี คนเก่ง ทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วม นอกจากการผลิตครูแล้ว ต้องดูแลครูในระบบ 4 แสนคนอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหนี้ครู ที่ไม่ได้เป็นการลดหนี้แต่เป็นการพอกหนี้ให้ครูมากขึ้น แสดงว่าการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครูไม่เป็นผล ต้องหาแนวทางใหม่ ซึ่งถ้ารัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 ท่านสามารถสร้างครู 4 แสนคนมาช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ทำอย่างไรให้ครูเป็นเทวดามาช่วยพัฒนาโรงเรียน ก็จะช่วยพัฒนาการศึกษาได้ และ 2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียนต้องตอบคำถามได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องเรียน เกิดอะไรขึ้นในโรงเรียน และนอกโรงเรียน” องคมนตรี กล่าวและว่า ทั้งนี้ เมื่อดูในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศอื่นๆ มีการจัดการศึกษาที่เข้มงวดมากกว่าประเทศไทย อาทิ ประเทศจีน ดังนั้น ประเทศไทยควรมาทบทวนในเรื่องการจัดการศึกษาว่าเป็นอย่างไร โดยที่ผ่านมา คนทั่วไปมักพูดว่าเด็กไทยเรียนหนักและทำการบ้านมากเกินไป และ สพฐ. ก็เตรียมที่จะปรับลดเวลาเด็ก แต่ก่อนที่จะไปตัดสินใจว่าเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวก่อนคิดว่าควรมีการทำวิจัยศึกษาในเรื่องดังกล่าวเพื่อดูว่าจริงๆ แล้วเราจัดการเรียนการสอนมากเกินไปจริงๆ หรือไม่
        

(จาก ผู้จัดการออนไลน์)