ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

หลักสูตรใหม่เบ้าหลอมพลเมือง ประธานบอร์ดกพฐ.ลั่นต้องสอดแทรกค่านิยม12ประการ

22 ก.ย. 2557 09:49 น.

ผู้อ่าน

    ประธานบอร์ด กพฐ.ระบุหลักสูตรการศึกษาใหม่ต้องทันสมัย ตอบสนองสังคม-การเมือง และเป็นเบ้าหลอมพลเมืองของประเทศ จึงต้องสอดแทรกค่านิยม 12 ประการเข้าไป ชี้ต้องดำเนินการกระชับ รัดกุม จะได้ไม่มีปัญหาในขั้นปฏิบัติ


    ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ว่า กพฐ.ได้รับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอให้ทบทวนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 เพื่อปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น หลังจากที่ใช้มาแล้วเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะมีการนำกลับมาทบทวนอยู่เสมอเพื่อให้เข้า กับสังคม โดยอาจปรับในช่วงระยะเวลา 5, 10, 20 ปี อีกทั้งโดยปกติเมื่อความคิดของชาติเปลี่ยนไป ตัวหลักสูตรก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย


    ดร.สุรัฐกล่าวอีกว่า ระยะนี้จะเห็นได้ชัดในเรื่องของกระแสสังคมและการเมืองที่มีการเรียกร้องให้ สอดแทรกเรื่องค่านิยม 12 ประการลงในหลักสูตร ซึ่งเป็นเหตุผลที่ชัดเจนในการสร้างประชาชนพลเมือง และยังมีกระแสให้เห็นว่าการทำงานของระบบการศึกษาไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น การให้การบ้านที่มีจำนวนมากเกินไป เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลชัดเจนว่ากระแสความต้องการในการสร้างประชาชน พลเมือง โดยเฉพาะเป้าหมายควรต้องมีการทบทวนใหม่ ด้วยเหตุนี้ กพฐ.จึงเห็นชอบในการปรับปรุงหลักสูตร เพราะหลักสูตรเป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางของประชาชนให้เป็นไปตามที่ สังคมและประเทศต้องการ ทั้งนี้การปรับหลักสูตรถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา แต่การปรับปรุงหลักสูตรแต่ละครั้งมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลาพอสมควร กพฐ.จึงขอให้มีดำเนินการด้วยความกระชับ รัดกุมที่สุด เพื่อไม่ให้การปรับหลักสูตรกลายเป็นอุปสรรคของการปฏิรูปการศึกษา


    "สิ่งที่ กพฐ.ฝากในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้คือ การให้หลักสูตรเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะสำคัญของประชาชนพลเมือง ที่จะต้องผ่านการร่ำเรียนฝึกฝน ผ่านระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าควรจะต้องมีทักษะและค่านิยมลักษณะนิสัยอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ซึ่งการปรับปรุงต้องมีขั้นตอนและใช้ระยะเวลา กพฐ.จึงขอให้ดำเนินการอย่างกระชับและรัดกุมทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิด อุปสรรคเวลานำไปปฏิบัติ"


    นอกจากนี้ ดร.รัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวเสริมว่า หลังจากนี้ สพฐ.จะต้องศึกษาตัวหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 แล้ววิเคราะห์หาจุดอ่อน-จุดแข็ง รวมไปถึงศึกษาข้อดี-ข้อเสียในหลักสูตรของต่างประเทศ จากนั้น สพฐ.จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อนที่จะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ เมื่อยกร่างหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้นำเสนอขอความเห็นชอบต่อ กพฐ. และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อลงนามประกาศใช้หลักสูตรต่อไป.

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์