ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สั่งปิดอุเทน-ปทุมวัน3-9วัน สกอ.เอาจริง! เชือดเป็นตัวอย่าง/เล็งให้ใช้เครื่องแบบเดียวกันแก้ปัญหา

17 ต.ค. 2557 09:36 น.

ผู้อ่าน

ภาพ สั่งปิดอุเทน-ปทุมวัน3-9วัน สกอ.เอาจริง! เชือดเป็นตัวอย่าง/เล็งให้ใช้เครื่องแบบเดียวกันแก้ปัญหา

    สกอ.สั่งปิดสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าปทุมวัน 3 และปิดสาขาวิศวกรรมโยธา อุเทนถวาย 9 วัน หลังก่อเหตุเปิดศึกทะเลาะวิวาทซ้ำอีก ย้ำต่อไปสั่งปิดนานขึ้นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาที่ก่อเหตุ ยิ่งถ้าไม่รู้สาขาวิชา เจอปิดทั้งสถาบัน หรือมีคนเสียชีวิตปิดยาว 1 เทอมถึง 1 ปี เล็งเปลี่ยนใช้เครื่องแบบเดียวกัน
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายสืบพงษ์  ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และนายปัญญา มินยง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พร้อมด้วยผู้บริหารจากทั้ง 2 สถาบัน ว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งรายงานมายัง สกอ. กรณีการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาสองสถาบันที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยนักศึกษาจากสถาบันฯ ปทุมวัน จำนวน 1 คน ได้ขึ้นรถประจำทางสาย 29 จากหมอชิต เมื่อมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีนักศึกษาจากอุเทนถวายขึ้นมาบนรถจำนวน 3 คน จากนั้นก็มีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เนื่องจากนักศึกษาทั้งสองฝ่ายยังให้การไม่ตรงกัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ซึ่งตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับทราบ ซึ่ง รมว.ศธ.ได้สั่งการให้ดำเนินการตามนโยบายที่ได้ตกลงไว้
    เลขาธิการ กกอ.กล่าวว่า ตนจึงตัดสินใจขอให้มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่ นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท สำหรับสถาบันฯ ปทุมวันให้ปิดสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งมีนักศึกษาได้รับผลกระทบจำนวน 70 คน ส่วนอุเทนถวายให้ปิดสาขาวิศวกรรมโยธา และสาขาการจัดการโลจิสติกส์ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 เป็นเวลา 9 วัน มีนักศึกษาได้รับผลกระทบจำนวน 300 ทั้งนี้เพื่อให้เด็กหลาบจำ และไม่ให้ซ่องสุมรวมตัวกันพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การแก้ แค้น ส่วนจะเริ่มปิดตั้งแต่วันใดนั้นเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปดูแล
    รศ.นพ.กำจรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จำนวนวันที่สั่งปิดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ต่อไปถ้าสถาบันใดรวมตัวกันก่อเหตุมากเท่าไหร่ ก็จะถูกปิดนานขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าไม่รู้ว่าเด็กที่ก่อเหตุเรียนอยู่สาขาใดก็ต้องสั่งปิดทั้งสถาบัน แต่ถ้าถึงขั้นเสียชีวิตก็ต้องปิดอย่างน้อย 1 ภาคเรียนถึง 1 ปีการศึกษา หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้นักศึกษาเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก โดยสาเหตุที่เลือกใช้มาตรการปิดเฉพาะสาขาที่ก่อเหตุแทนการสั่งปิดทั้งสถาบัน เพราะเห็นใจนักศึกษาที่ตั้งใจเรียน
    "นี่เป็นมาตรการที่เบาที่สุดแล้ว ดังนั้นถ้านักศึกษาไม่ต้องการให้มีการปิดการเรียนการสอน แต่ละสาขาก็ต้องช่วยดูแลกันเอง ไม่ให้เกิดการยกพวกตีกันอีก” นพ.กำจรกล่าว
    เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า มาตรการสั่งปิดตามจำนวนเด็กที่ก่อเหตุเป็นมาตรการขั้นต้น ส่วนมาตรการระยะยาวนั้นได้มีการหารือไประดับหนึ่งแล้ว โดยขอดูรูปแบบการแก้ปัญหาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งจะให้เด็กมาทำกิจกรรมร่วมกันในปีการศึกษาหน้า แต่ระดับอุศึกษาที่มีปัญหา มีแค่อุเทนถวายกับสถาบันฯ ปทุมวัน ดังนั้นในปีการศึกษาหน้าจะให้มีการปฐมนิเทศร่วมกัน และมีแนวคิดที่จะให้ทั้งสองสถาบันแต่งเครื่องแบบนักศึกษาเหมือนกัน ทั้งเข็มสัญลักษณ์และเข็มขัด แต่ก็ต้องไปพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย เพราะอาจจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพ
    ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับ นพ.กำจร เลขาฯ กกอ.แล้ว และเห็นด้วยกับมาตรการปิดสถาบันชั่วคราวของ กกอ. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และในช่วงปิดการเรียนการสอนยังมีการก่อเหตุซ้ำอีก ก็อาจจะมีการทบทวนมาตรการที่เด็ดขาดยิ่งขึ้นๆ หากมีการบาดเจ็บเสียชีวิตและมีผลกระทบถึงบุคคลที่ 3 ส่วนการปิดสถาบัน รวมถึงการงดรับนักเรียนนักศึกษาในปีต่อไปนั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องมีการทบทวนมาตรการเพื่อไม่ให้กระทบนักเรียนนักศึกษาคนอื่นๆ ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น โครงการเตรียมอาชีวศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาได้
    "ผมมั่นใจว่าหลักสูตรนี้จะละลายพฤติกรรมแก้ปัญหาเด็กตีกันได้ แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหาได้ 100% แต่ทุกคนที่ได้ผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะมีระเบียบวินัย มีความยับยั้งชั่งใจ มีความเป็นเพื่อนความผูกพันในรุ่นเตรียมอาชีวศึกษารุ่นเดียวกัน ก่อนจะแยกย้ายกันเข้าสถาบันของตนเอง" รมว.ศึกษาธิการกล่าว
    ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า การนำร่องครั้งนี้เพื่อพัฒนาหลักสูตรจะได้ปรับแต่งในส่วนที่ยังไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หลักสูตรเตรียมอาชีวะเบื้องต้นกำหนดว่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนแรกเป็นวิชาบังคับ อีกส่วนเป็นวิชาเลือก ซึ่งยืดหยุ่นตามสภาพของหน่วยจัด อย่างไรก็ตาม จะให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องด้วย เพราะการเข้าค่ายแค่ 1 เดือนน่าจะไม่พอ.

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์