ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สกศ. จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-NET และ PISA”

26 ก.ย. 2561 16:54 น.

ผู้อ่าน

 
ภาพ สกศ. จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-NET และ PISA”
 
วันนี้ (26 ก.ย.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีการประชุมวิชาการ เรื่อง การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบโอเน็ต และ พิซา โดย ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดดัชนีคุณภาพการศึกษาไว้ ว่า การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) ในปี 2561 - 2564 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ ร้อยละ 50 ขณะที่ผลสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซา ของนักเรียนอายุ 15 ปี ตั้งเป้าหมายเพิ่มคะแนนระดับ 500 คะแนน ทั้งนี้ ข้อสรุปและความเห็นที่เป็นประโยชน์ สกศ.จะนำไปปรับใช้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษาชาติต่อไป
 
ภาพ สกศ. จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-NET และ PISA”
 
ดร.สุนีย์ คล้ายนิล ที่ปรึกษาโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซา ประเทศไทย กล่าวว่า ตนทำเรื่องการสอบพิซา มาตั้งแต่ปี 2543 ท้อจนอยากถอย ผลการสอบพิซาครั้งล่าสุดปี 2558 ประเทศไทยคะแนนต่ำลงทุกวิชา คำถามที่ทุกคนต้องมาช่วยกันคิด ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการเรียนการสอนของประเทศไทย ทั้งนี้ เมื่อดูพบว่าสิ่งที่หลายประเทศที่มีเด็กสอบพิซาได้คะแนนดีทำมานานแล้ว คือ เพิ่มการสอนการอ่าน เน้นเรื่องการอ่านในทุกวิชา ว่าอ่านอะไร เช่น อ่านกราฟได้ อ่านสูตรได้ อ่านและจับใจความได้ เน้นให้นักเรียนผูกพันอยู่กับการอ่านทุกที่ ไม่ใช่นั่งจิ้มโทรศัพท์ เช่น โปรแลนด์ เพิ่มชั่วโมงการอ่านมากขึ้นสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง ขณะไทยมีที่ชั่วโมงเรียนภาษาไทย หรือภาษาแม่ของประเทศไทยต่ำที่สุด นอกจากนี้ชั่วโมงเรียนที่มากขึ้น ยังส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนที่มีประสิทธิภาพ แต่ของประเทศไทยกลับลดชั่วโมงเรียน โดยไม่ดูข้อมูล เป็นการคิดเองแล้วก็ทำเลย
 
ภาพ สกศ. จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-NET และ PISA”
 
“ โอเน็ตก็มีความสำคัญ และจะต้องจัดสอบให้สัมพันธ์กับการอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ไม่รู้ความหมาย อธิบายไม่ได้ ไม่เข้าใจ ซึ่งผู้ที่สำคัญที่สุด คือ ครู ทั้งนี้ ที่ประเทศบราซิล ครู คือ กุญแจสำคัญของประเทศ ผู้บริหารต้องประกันว่า ครูได้รับการสนับสนุน ครูและผู้บริหารต้องได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ นักการเมืองไม่ใช่นักการศึกษา จะกำหนดอะไรต้องถามนักการศึกษาก่อน ไม่ใช่บอกว่าจบจากประเทศอังกฤษแล้วจะทำอะไรก็ได้ ขณะเดียวกันยังพบว่า หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ ไม่การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา ไม่แยกเรียนตามความสามารถ เช่น ห้องเด็กเก่ง เด็กอ่อน สายวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เพราะจะทำให้เด็กอ่อนไม่เห็นวิธีการเรียนของเพื่อน ไปมั่วสุมกันเหมือนเด็กถูกคัดทิ้ง ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง เลยออกไปทำเรื่องไม่ดี แต่จะแยกได้เมื่อเด็กอยู่ในระดับที่สามารถตัดสินใจได้แล้วว่าชอบและถนัดอะไร”นางสุนีย์กล่าว และว่า มีผลการสำรวจออกมาว่า ยิ่งกวดวิชา คะแนนยิ่งต่ำ โดยที่ประเทศเวียดนามมีกฎหมาย ว่า ครูไม่สามารถสอนกวดวิชาได้ ถ้ามีหลักฐานว่า ครูรับเงินจากเด็กจะมีโทษถึงติดคุก
 
ภาพ สกศ. จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-NET และ PISA”
 
ขณะที่ รศ.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า การวัดประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง มี 4 ระดับ คือ ระดับชั้นเรียน สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ซึ่งการประเมินทุกระดับมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อนำผลไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระดับชั้นเรียน คือ แบบบันทึกผลการเรียนรายวิชา (ปพ.5) ครูเปรียบเสมือนหมอต้องวินิจฉัยตลอดและพัฒนา ถ้าทำต่อเนื่องก็จะไม่มีใครตกและไม่กลัวการทดสอบไม่ว่าจะระดับใด ทั้งนี้ โอเน็ตเป็นการประเมินระดับชาติ ผลการสอบโอเน็ต จะมีผลทั้งระดับตัวเด็ก ซึ่งจะรู้ว่าตัวเองมีผลการเรียนในระดับใด อ่อนวิชาใด สามารถพยากรณ์การเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ ขณะที่ครู และโรงเรียนก็สามารถนำผลคะแนนไปพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งตนย้ำมาตลอดว่า ผลการประเมินที่สะท้อนคุณภาพสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง ต้องเน้นการเรียนการสอนในห้องเรียน อย่าติว อย่าเพิ่มภาระ และอย่าแยกส่วนการเรียนกับการสอบออกจากกัน
 
 
ที่มา : เดลินิวส์ (https://www.dailynews.co.th/education/668169)