ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ สทศ.

4 ธ.ค. 2557 16:51 น.

ผู้อ่าน

ภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ สทศ.

          เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ  พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ  ได้เดินทางเข้าร่วมหารือกับคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) เกี่ยวกับการดำเนินงานของ สทศ. โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และรองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ให้การต้อนรับ ที่ห้องประชุม สทศ. 3 ชั้น 35 อาคารพญาไทพลาซ่า โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วมประชุมในฐานะคณะกรรมการบริหาร สทศ.

ภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ สทศ.         ภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ สทศ.

          โดยพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย  เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ต้องการที่จะมาพบและรับฟังภารกิจ ผลการดำเนินงาน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาระบบทดสอบประเมินผลการศึกษากับ สทศ. ซึ่งจากการหารือมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่  การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดย ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ มีแนวคิดที่ประสงค์ให้ สทศ. จัดสอบเฉพาะกลุ่มสาระวิชาหลัก 4 กลุ่มสาระ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ในส่วนกลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา กลุ่มสาระศิลปะ และกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี     จะมอบหมายให้ทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการสอบเอง  เนื่องจากเป็นวิชาที่ขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค มีความหลากหลาย หากให้ส่วนกลางออกข้อสอบเหมือนกันทั้งประเทศ อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำได้ จึงเสนอให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนได้ดำเนินการเอง เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะสามารถวัดผลได้ดีกว่า เพราะโรงเรียนสามารถนำวิถีชีวิต สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคมาเป็นข้อสอบ รวมทั้งปรับแบบทดสอบได้หลากหลายมากกว่าการสอบแบบเลือกคำตอบเท่านั้น

 ภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ สทศ.         ภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ สทศ.

           ในการนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการปรับการทดสอบ O-NET ให้เหลือ 4 กลุ่มสาระได้จริง ในเบื้องต้นอาจอยู่ในรูปแบบของพื้นที่นำร่องก่อน ในขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะต้องออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน โดยมี สทศ.ให้การช่วยเหลือในเรื่องของการวัดผล  ซึ่งที่ประชุมก็ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบให้ สทศ.นำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. ให้ได้ข้อยุติอีกครั้ง

       ส่วนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษานั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งการสอบดังกล่าวจะไม่บังคับให้ทุกคนต้องสอบ เป็นเรื่องของความสมัครใจของแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาเราเชื่อถือการวัดผลของต่างประเทศมาเป็นเวลานาน จึงคิดว่าควรมีการสร้างรูปแบบการวัดผลที่ได้มาตรฐาน และเทียบเคียงกับต่างประเทศได้  โดยการทดสอบดังกล่าว จะไม่มีการกำหนดให้บัณฑิตทุกคน ต้องเข้ารับการทดสอบ หากแต่จะเป็นการวัดคุณภาพตามความต้องการและความสมัครใจเท่านั้น ในลักษณะเดียวกับการสอบ TOEFL เป็นต้น