ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

กยศ.เล็งใช้คะแนนโอเน็ตคัดผู้กู้ยืมเรียน

23 ก.ย. 2556 09:34 น.

ผู้อ่าน

กยศ.มีแนวคิดใช้คะแนนโอเน็ตร่วมเกณฑ์คัดกรองคุณสมบัติผู้กู้เรียน กระตุ้นให้เด็กขวนขวาย เตรียมของบรัฐบาลปล่อยกู้เรียน ต.ค.นี้ ระบุถ้าไม่ให้กระทบผู้กู้รายใหม่หมด ขณะที่รายเก่าบางส่วนปีหน้าอด อาจคงเงินกู้ให้มัธยม-ปวช. เผยปี 61 จะส่งข้อมูลผู้ค้างชำระหนี้ให้เครดิตบูโรเป็นประวัติการเงิน
    นางฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.มีแนวคิดที่จะใช้ผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาขั้นระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นหลักเกณฑ์คัดกรองคุณสมบัติของผู้กู้ยืมเงิน โดยอาจใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรเงินกู้ให้กับผู้กู้รายใหม่ จากเดิมหลักเกณฑ์กำหนดไว้แต่เพียงว่าผู้มีสิทธิขอกู้ยืมเงินต้องผู้ขาดแคลน ทุนทรัพย์ ที่มีรายได้ครอบครัวต่อปีไม่เกิน 200,000 บาท และเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดี หรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถาบันการศึกษา แต่ไม่เคยกำหนดว่าจะต้องมีผลการเรียนดีในระดับใด
    “เดิมกองทุนจะเน้นเปิดโอกาสให้กับนักเรียนนักศึกษาทุกคน โดยไม่เคยนำคะแนนใดๆ มาประกอบการพิจารณาเลย ดังนั้น แนวทางในอนาคตจะมีปรับหลักเกณฑ์ให้เข้มข้นขึ้น โดยจะนำคะแนนโอเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณามอบเงินกู้เพื่อให้เด็กมี ความขวนขวาย เห็นว่าเงินกู้นี้มีคุณค่า” นางฑิตติมากล่าว
    ผอ.กยศ.กล่าวต่ออีกว่า กองทุนฯ ได้ให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมทั่วประเทศกว่า 4.1 ล้านราย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4.2 แสนล้านบาท มีจำนวนผู้ครบชำระหนี้ทั้งสิ้น 2,800,081 ราย ในจำนวนนี้มี 1,485,994 ราย คิดเป็นร้อยละ 53 ของผู้ครบชำระหนี้ ติดค้างการชำระหนี้ ซึ่ง 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ที่มีรายได้แล้ว แต่ไม่ยอมชำระเงินคืน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติตัดงบประมาณ กยศ.ปี 2557 มากถึง 6,700 ล้านบาท ส่งผลกระทบจะไม่มีการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้กู้รายใหม่ในปีหน้า และผู้กู้รายเก่าบางส่วนประมาณ 140,000 ราย จะไม่ได้รับเงินกู้ต่อ ดังนั้น กองทุนฯ จะของบกลางจากรัฐบาลเดือน ต.ค. เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ในปีหน้า ทั้งนี้ หากต้องยุติการให้เงินกู้กับผู้กู้รายเก่าจริง กองทุนฯ จะพิจารณาคงเงินกู้ให้กับผู้กู้ในระดับชั้นมัธยมและ ปวช.เป็นหลัก
    นอกจากนี้ กองทุนฯ จัดโครงการ “รณรงค์ชำระหนี้” เพื่อกระตุ้นการชำระเงินคืนกองทุนในระหว่างเดือน พ.ย.-มี.ค.ปีหน้า โดยจะมีการลดหย่อนหนี้ ลดเบี้ยปรับ และมอบส่วนลดดอกเบี้ย อีกทั้งได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรนายจ้างและบริษัทต่างๆ ให้ช่วยตรวจสอบว่าลูกจ้างของตนเป็นผู้ที่ยังไม่ชำระเงินคืนกองทุนฯ หรือไม่ หรืออาจจะมีหักเงินเดือนของผู้ค้างชำระเพื่อคืนให้กับกองทุนฯ โดยตรง และในปี 2561 กองทุนฯ จะส่งข้อมูลของผู้กู้ทั้งที่ชำระเงินแล้วและยังไม่ได้ชำระให้กับทางเครดิตบู โร เพื่อใช้เป็นประวัติทางการเงิน

 

 

เครดิต นสพ.ไทยโพสต์