ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

ยอด"นร.อ่านไม่ออก"พุ่งเกินคาด สพฐ.อึ้งยอมรับยอดสูงทะลุเป้า

24 ก.ย. 2556 09:32 น.

ผู้อ่าน

สพฐ.เผยผลสแกนหานักเรียนอ่านภาษาไทยไม่ออกแค่ครึ่งเดียว 80 เขตพื้นที่ฯ จาก 183 เขต สุดอึ้ง! ยอดพุ่งเกินคาด พบ ป.3 อ่านได้บ้าง และอ่านไม่ได้เลยกว่า 6 หมื่นคน หรือ 8% ส่วนชั้น ป.6 ก็ไม่น้อยกว่า 3 หมื่น หรือ 4% "ชินภัทร" รับสูงเกินความคาดหมาย ที่คิดไว้ว่าจะมีประมาณ 2-3% เท่านั้น เร่งพัฒนาให้อ่านออกได้ภายในเทอม 2/2556 นี้ สั่งครูติวเข้มช่วงเย็นหลังเลิกเรียน
    นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ “นักเรียนอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ต้องไม่มี” ว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำเครื่องมือทดสอบเพื่อตรวจสอบและคัดกรอง หรือสแกนความสามารถการอ่านออกเสียง และความเข้าใจการอ่านของนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ทุกคน ซึ่งได้สแกนไปตั้งแต่วันที่ 9-20 กันยายนที่ผ่านมา โดยขณะนี้เขตพื้นที่ฯ ประมาณ 80 แห่ง จากทั้งหมดที่ร่วมสแกน 183 แห่ง ได้รายงานผลการสแกนนักเรียนมาแล้ว ทำให้สามารถประเมินภาพรวมได้เบื้องต้นว่า นักเรียนชั้น ป.3 ภาพรวมประมาณ 8 แสนคน ร้อยละ 56 มีระดับการอ่านอยู่ในเกณฑ์ดี, ร้อยละ 8 หรือประมาณ 64,000 คน อ่านไม่ได้และอ่านได้บ้างอยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุง และนักเรียนชั้น ป.6 ภาพรวมประมาณ 8 แสนคน ร้อยละ 60 มีระดับการอ่านอยู่ในเกณฑ์ดี, ร้อยละ 4 หรือประมาณ 32,000 คน อ่านไม่ได้และอ่านได้บ้างอยู่ในเกณฑ์ต้องปรังปรุง
    เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวถือว่าเกินความคาดหมาย สพฐ. เพราะตอนแรกเราคาดว่าสถิติเด็กอ่านไม่ออกน่าจะอยู่ที่ 2-3% ฉะนั้นเมื่อมีข้อมูลเด็กอ่านไม่ออกอย่างเป็นทางการแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ที่เป็นช่วงปิดภาคเรียน จะมอบให้แต่ละโรงเรียนไปทำแผนการพัฒนาและฟื้นฟูการอ่านภาษาไทย จากนั้นจะเริ่มดำเนินการพัฒนาและฟื้นฟูนักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้ภายในภาคเรียนที่ 2 หรือระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556-เดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยการพัฒนาและฟื้นฟูการอ่านภาษาไทยจะอยู่ช่วงเย็นหลังเวลาเลิกเรียนปกติไปแล้ว ขณะที่ สพฐ.จะคอยติดตามยอดนักเรียนอ่านไม่ออกทุกเดือน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เด็กชายขอบและกลุ่มเด็กชาติพันธุ์จะพัฒนาและฟื้นฟูการอ่านภาษาไทยได้อย่างไร เพราะบางคนถึงขั้นไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นายชินภัทรกล่าวว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กของ สพฐ. ฉะนั้นถือว่าอยู่ในเป้าหมายที่จะพัฒนาและฟื้นฟูให้อ่านภาษาไทยให้ได้ แต่ สพฐ.ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้อ่านภาษาไทยได้ แต่เราต้องทำให้ได้ อย่างไรก็ดี สพฐ.มีนวัตกรรมการศึกษา อาทิ ระบบทวิภาษา ที่จะมีครูท้องถิ่นเป็นผู้ช่วยครูผู้สอนคนไทย ฉะนั้นจะต้องเป็นไปตามเป้าหมายว่า นักเรียนชั้น ป.3 ทุกคนต้องอ่านออกและเขียนภาษาไทยได้
 
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์