ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

สมศ.เอาจริง O-NET ประเมินคุณภาพรอบ 4

4 มี.ค. 2557 14:25 น.

ผู้อ่าน

      นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า สมศ.กำลังปรับปรุงตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (ปี 2559-2563) โดยในวันที่ 18 มี.ค.57  สมศ.จะเชิญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มาหารือกันว่า จะนำผลการทดสอบทางการศึกษาต่างๆ เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) และการทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา (U-NET) มาเป็นตัวบ่งชี้ในการประเมินฯ รอบ 4 หรือไม่ 
 
      "ผมอยากให้ใช้ O-NET ในการประเมินฯ เพราะอะไรที่มาจากส่วนกลาง น่าจะมีความเที่ยงตรง และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการปล่อยให้ต่างคนต่างประเมิน แต่ส่วนกลางต้องพัฒนามาตรฐานของเครื่องมือให้ดียิ่งขึ้น ผมอยากใช้ O-NET มาประเมินคุณภาพการสอนของครูด้วย ซึ่งขณะนี้ สมศ.พยายามที่จะให้ทุกตัวบ่งชี้มีความสัมพันธ์กัน เพราะที่ผ่านมาผลประเมินทุกด้านออกมาดีหมด แต่ผลสัมฤทธิ์ของเด็กกลับตกต่ำ เราจึงต้องทำให้เกิดเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่นถ้า O-NET ต่ำแปลว่าครูสอนไม่เก่งหรือไม่"
 
     นายชาญณรงค์ กล่าวและว่า สำหรับการประเมินฯ รอบ 4 นั้น สมศ.ตั้งเป้าว่าโรงเรียนต้องผ่านประเมิน 100% และได้ผลประเมินระดับดี 50% ขึ้นไป จึงฝากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยกระตุ้นให้สถานศึกษาในสังกัดเร่งพัฒนาคุณภาพ เพื่อพร้อมรับการประเมินรอบใหม่
 
     เมื่อถามว่าการนำ O-NET มาใช้ประเมินครู จะทำให้ครูโรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบหรือไม่ ผอ.สมศ. กล่าวว่า เรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงเรียนเล็กกับโรงเรียนใหญ่นั้น กำลังจะสลับที่กันแล้ว โดยโรงเรียนเล็กจะได้เปรียบมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะขณะนี้ธุรกิจการศึกษารุนแรงมาก ทำให้โรงเรียนหลายแห่งรับเด็กจำนวนมาก กลายเป็นครู 1 คน ต้องสอนเด็กห้องละ 50-60 คน การดูแลนักเรียนอาจไม่ทั่วถึง ขณะที่โรงเรียนเล็กมีเด็กไม่มาก และเมื่อ สมศ.เข้าไปปลุกให้ลุกขึ้นสู้ก้าวข้ามขีดจำกัด ทำให้ครูมีความทุ่มเท มีการจับกลุ่มเครือข่ายระหว่างโรงเรียนเล็กด้วยกัน เพื่อใช้ข้อมูลและครูร่วมกัน จึงทำให้โรงเรียนมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดไปมาก และก็ไม่ใช่ว่าโรงเรียนขนาดเล็ก จะมีผลสัมฤทธิ์ที่ตกต่ำตลอดไป
 
 
 
เครดิต นสพ.สยามรัฐ