ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

นวัตกรรมการทดสอบ

การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing)

ผู้อ่าน

ภาพ การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing)       ภาพ การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing)

ความเป็นมา

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือกับศูนย์เครือข่าย สทศ. 9 แห่ง ดำเนินการสร้างและพัฒนาระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing) เพื่อรองรับรูปแบบการทดสอบที่หลากหลายและมีการใช้สื่อประสม(Multimedia) มาใช้ในการทดสอบทดแทนการทดสอบในรูปแบบกระดาษคำตอบที่ไม่สามารถทำได้ เช่น การฟังเสียง หรือดูภาพเคลื่อนไหว โดยมอบให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีทำการวิจัยและพัฒนาการสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing) และได้ดำเนินการติดตั้งระบบ E-Testing เพื่อใช้ในการจัดการทดสอบ ณ ศูนย์เครือข่ายของ สทศ. 9 แห่ง ประกอบด้วย

  1. ภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร)
  2. ภาคกลาง (ศูนย์สอบ สทศ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)
  3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี)
  4. ภาคตะวันออก (มหาวิทยาลัยบูรพา)
  5. ภาคใต้ (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ภาพ การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing)

เพื่อให้การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing) รองรับการทดสอบอย่างกว้างขวางและมีมาตรฐาน มีผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล สทศ. จึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการทดสอบด้วยระบบ E-Testing ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทดสอบในสถาบันศึกษาต่างๆ โดยมีศูนย์เครือข่ายของ สทศ. เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้มีความเข้าใจ  และสามารถดำเนินการจัดการทดสอบด้วยระบบ E-Testing ได้อย่างเป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

E-Testing คือ การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้เข้าสอบทำแบบทดสอบผ่านคอมพิวเตอร์  แทนการทำแบบทดสอบลงในกระดาษคำตอบ และสามารถรู้ผลการทดสอบเบื้องต้นหลังจากทำข้อสอบเสร็จทันที

ระบบ E-Testing เริ่มใช้เมื่อไหร่

สทศ. เริ่มใช้การทดสอบระบบ E-Testing  เป็นครั้งแรกในวันที่ 6 กันยายน 2557 โดยเป็นการทดสอบวัดสมรรถนะครูทางด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2556 ที่ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย โดยมีกำหนดที่จะดำเนินการจัดสอบกับประเภทการสอบอื่นๆ ต่อไป

ภาพ การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing)

ระบบ E-Testing ดีอย่างไร

  1. ขยายโอกาสทางการทดสอบให้กับผู้เข้ารับการทดสอบมากยิ่งขึ้น
  2. ตอบสนองการจัดการทดสอบหลายครั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน
  3. รองรับรูปแบบของข้อสอบที่หลากหลายและมีการใช้สื่อประสมเพื่อความสมบูรณ์ของการทดสอบ เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงบันทึก และ วิดีทัศน์ ซึ่งการทดสอบด้วยกระดาษไม่สามารถทำได้
  4. ลดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลา ทรัพยากร และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับการพิมพ์ การขนส่ง การบริหารจัดการ การตรวจ และการประมวลผล เป็นต้น
  5. ป้องกันการทุจริตเนื่องจากแบบทดสอบมีหลายชุดและหลายแบบฟอร์ม
  6. พัฒนาระบบการทดสอบให้เป็นมาตรฐานสากล และรองรับรูปแบบการทดสอบตอบสนองนานาชาติในอนาคต

ภาพ การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing)

สนใจเป็นสนามสอบ E-Testing?

คุณสมบัติสนามสอบ E-Testing

  1. มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
  2. มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใน (LAN) ในแต่ละห้อง และสามารถเชื่อมต่อภายนอกผ่านเครือข่าย Internet มาที่ศูนย์ สทศ.
  3. มีเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์
    • มีความสามารถวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นได้ เช่น สาเหตุมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครือข่าย หรือโปรแกรม
    • ต้องได้รับการอบรมเป็นผู้ดูแลระบบ E-Testing จาก สทศ.
  4. ควรมีระบบไฟสำรอง
  5. มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่สามารถติดต่อและประสานงานได้ตลอดเวลาทำการ(เวลาราชการ)
  6. ห้องสอบควรมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ประมาณ 33-35 เครื่อง/ห้อง และหนึ่งสนามสอบควรจะมีห้องสอบอย่างน้อย 3 ห้อง/สนามสอบ

คุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์

  • เครื่องแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ (SERVER)
    • หน่วยประมวลผล  (CPU) 64 bit (คอมพิวเตอร์ที่ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา)
    • มีหน่วยความจำ (MEMORY) อย่างน้อย 1 GB
    • มีหน่วยความจำสำรอง (Harddisk) อย่างน้อย 15 กิกะไบต์
    • มีจอแสดงผลความละเอียดอย่างน้อย 800X600 จุด
    • มีเม้าส์ และ คีย์บอร์ด
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย (เครื่องที่ใช้ในการสอบ)
    • หน่วยประมวลผล (CPU) 64 bit
    • มีหน่วยความจำ (MEMORY) อย่างน้อย 512 MB
    • มีจอแสดงผลความละเอียดอย่างน้อย 800X600 จุด
    • มีเม้าส์ และ คีย์บอร์ด
  • อุปกรณ์เพิ่มเติม
    • มีระบบสำรองไฟ (UPS)