ไทย​ English   การแสดงผล
C
C
C

ข้อมูลข่าวสาร

"อ๋อย"เล็งควบคุมการผลิตครู ล้นอัตราเกษียณปีละ3หมื่นแนะสถาบันการศึกษาบอกความจริงคนมาสมัครเรียน

25 พ.ย. 2556 10:15 น.

ผู้อ่าน

    “อ๋อย” ตั้งโจทย์ถกปฏิรูปครูทั้งระบบ ตั้งแต่ผลิตถึงการพัฒนา เล็งควบคุมการผลิตครูที่ปัจจุบันล้นเกินอัตราเกษียณปีละ 3 หมื่นคน แนะนับจากนี้สถาบันการศึกษาต้องให้ข้อมูลเด็กที่มาสมัครเรียนครูรู้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริง ส่วนแนวทางการพัฒนาเบื้องต้นมอบคุรุสภา สำนักงาน ก.ค.ศ. และหน่วยงานพัฒนาครูไปปรับปรุงตัวเอง หาทางส่งเสริมให้ครูมีคุณภาพแท้จริง
    เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การปฏิรูประบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา” โดยมีผู้บริหาร ศธ. นักวิชาการการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ศธ.จะปฏิรูปครูทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการพัฒนาครู ซึ่งในส่วนการผลิตจะเน้นการรองรับอัตราครูที่จะเกษียณอายุราชการในระยะยาว ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พบว่า อีกประมาณ 10 ปี (พ.ศ.2556-2565) จะมีครูเกษียณอายุราชการประมาณ 200,000 คน หรือในอีก 15 ปี (2556-2570) จะมีครูเกษียณอายุราชการรวมอีกประมาณ 280,000 คน หรือเฉลี่ยแต่ละปีจะมีครูเกษียณอายุราชการประมาณปีละ 20,000 คน ขณะที่การผลิตครูพบยอดแต่ละปีผลิตรวมประมาณ 50,000 คน
    สรุปได้ว่าเราผลิตครูเกินความต้องการปีละ 30,000 คน ซึ่งหากสถาบันผลิตครูยังผลิตในจำนวนนี้หรือมากกว่านี้ ต่อไปทำให้ในอีก 10 ปีจากนี้เรามีครูในภาพรวมเกิน 300,000 คน และ 15 ปีจากนี้จะเกิน 450,000 คน ถือว่าการผลิตล้นกว่าอัตราเกษียณอายุราราชการ 2.5 เท่า
    รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ในส่วนของการผลิตครู ที่ประชุมได้ตั้งโจทย์จะต้องผลิตครูให้ตรงกับความต้องการการจัดการศึกษา ซึ่งจากนี้อาจต้องไปดูว่าโรงเรียนต้องการครูที่มีคุณลักษณะ ความสามารถอย่างไร ที่คำนึงต่อหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะใช้ในอนาคต อีกทั้งต้องดูว่าจะมีระบบที่จะมาดูแลแผนการผลิตครูได้อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วนคือ การควบคุมปริมาณการผลิตครูที่เกินในขณะนี้ ซึ่งอาจต้องให้สถาบันผลิตครูให้ข้อมูลแก่ผู้ที่จะมาสมัครเรียนถึงสภาพการผลิตล้น เด็กจะรู้และไม่แห่มาสมัคร รวมถึงการควบคุมไม่ให้รับกันตามอัธยาศัยด้วย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปจัดทำแผนและรายละเอียดในส่วนการผลิตครู และกลับมาเสนอที่ประชุมครั้งหน้าในวันที่ 4 ธันวาคมนี้
    รมว.ศธ.กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ได้มอบให้คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู ไปทบทวนตัวเองว่าจะมีบทบาทอย่างไรกับการพัฒนาครูให้มีคุณภาพ ได้แก่ การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะทำให้อย่างไรที่จะส่งเสริมเรื่องคุณภาพครู ซึ่งอาจต้องพิจารณาความเป็นไปได้เรื่องการประเมินสมรรถนะเพื่อต่อใบอนุญาตฯ ไม่ใช่ต่อใบอนุญาตฯ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเท่านั้น การประเมินวิทยฐานะจะทำอย่างไรให้เป็นการพัฒนาวิชาชีพครู เบื้องต้นอาจต้องเชื่อมโยงผลการสอน และผลการสอนอาจต้องเชื่อมโยงกับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนครูด้วย และการอบรมครูจะทำอย่างไรให้เป็นการอบรมทั้งระบบ และจำเป็นต้องอบรมในสาระใดบ้าง ไม่ใช่อบรมเป็นรุ่นแต่ละปีไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีประโยชน์
    “การจัดระบบผลิตและพัฒนาครูเป็นปัญหาท้าทาย ซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงและควบคุม เพราะระบบเดิมทำให้เกิดปัญหาหลายด้านจนไม่สามารถพัฒนาครูทั้งระบบให้มีคุณภาพได้ เช่น การผลิตครูล้นเกินความต้องการ ครูไม่มีคุณภาพ ส่งให้ผลสัมฤทธิ์นักเรียนไทยตกต่ำ ขณะเดียวกันการศึกษาในอนาคตก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามสังคมเทคโนโลยีไร้ขีดจำกัด ทำให้บทบาทครูก็ต้องเปลี่ยนตาม ฉะนั้นเราจึงต้องมาตั้งโจทย์เหล่านี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวงวิชาการนี้ช่วยหาทางออก ซึ่งคิดว่าคงต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะได้ข้อสรุป” นายจาตุรนต์กล่าว
 
 
 
เครดิต นสพ.ไทยโพสต์